สำนักงานกฎหมาย

นพนภัส

ทนายความเชียงใหม่

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา ๑๗๓๒  ผู้จัดการมรดกต้องจัดการตามหน้าที่และทำรายงานแสดงบัญชีการจัดการและแบ่งปันมรดกให้เสร็จภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ระบุไว้ในมาตรา ๑๗๒๘ เว้นแต่ผู้ทำพินัยกรรม ทายาทโดยจำนวนข้างมาก หรือศาลจะได้กำหนดเวลาให้ไว้เป็นอย่างอื่น

 

วรรคสอง คดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกนั้น มิให้ทายาทฟ้องเกินกว่าห้าปีนับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวข้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9317/2556 ผู้คัดค้านยื่นคำร้องขอถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1727 วรรคหนึ่งอ้างเหตุเพียงประการเดียวว่า ผู้ร้องไม่แบ่งปันทรัพย์มรดกของผู้ตายในเวลาอันสมควร ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1732 บัญญัติว่า "ผู้จัดการมรดกต้องจัดการตามหน้าที่และทำรายงานแสดงบัญชีและแบ่งปันมรดกให้เสร็จสิ้นภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ระบุไว้ในมาตรา 1728" แสดงว่า ผู้จัดการมรดกมีหน้าที่จัดการแบ่งปันมรดกให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งปี หากไม่ดำเนินการในเวลาดังกล่าวอาจถูกศาลถอดถอนจากการเป็นผู้จัดการมรดกได้ ผู้ร้องจึงมีหน้าที่ต้องแบ่งปันมรดกให้แก่ทายาทให้เสร็จภายในหนึ่งปี การที่ผู้คัดค้านมายื่นคำร้องขอให้ถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกก่อนที่จะครบกำหนดเวลาหนึ่งปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1732 ซึ่งยังถือไม่ได้ว่าผู้ร้องกระทำผิดหน้าที่ไม่แบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดอันจะเป็นเหตุให้ถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1727 และจะถือว่าผู้ร้องไม่มีความสามารถตาม ป.พ.พ. มาตรา 1713 (2) อันจะตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกไม่ได้เช่นกัน ดังนั้น ในวันที่ผู้คัดค้านยื่นร้องขอ จึงยังไม่มีเหตุตามคำร้องขอ ที่จะถือได้ว่าเป็นการโต้แย้งสิทธิหรือจำต้องใช้สิทธิทางศาลตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 ผู้คัดค้านจึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายและตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย แม้ต่อมาระหว่างการพิจารณาผู้ร้องยังไม่แบ่งทรัพย์มรดกก็เป็นเหตุการณ์ภายหลังอันจะถือว่าเป็นเหตุตามคำร้องขอหาได้ไม่

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1217/2543 ผู้จัดการมรดกที่ศาลมีคำสั่งตั้งมีอำนาจและหน้าที่ที่จะทำการอันจำเป็นเพื่อให้การเป็นไปตามคำสั่งแจ้งชัดหรือโดยปริยายแห่งพินัยกรรมและเพื่อจัดการมรดกโดยทั่วไปหรือเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดก และเป็นหน้าที่ของผู้จัดการมรดกจะต้องจัดการโดยตนเอง จะให้ผู้ใดทำแทนไม่ได้ เว้นแต่กรณีเข้าข้อยกเว้นให้ผู้จัดการมรดกมอบให้ตัวแทนทำการได้ตามอำนาจที่ให้ไว้โดยชัดแจ้ง หรือโดยปริยายในพินัยกรรม หรือโดยคำสั่งศาล หรือในพฤติการณ์เพื่อประโยชน์แก่กองมรดกผู้จัดการมรดกที่ศาลมีคำสั่งตั้งมิใช่ตัวแทนของทายาท อำนาจหน้าที่และความรับผิดของผู้จัดการมรดกต่อทายาทเกิดขึ้นโดยบทบัญญัติของกฎหมาย จึงมีฐานะเป็นผู้แทนตามกฎหมายของทายาทที่จะต้องจัดการมรดกเพื่อประโยชน์แก่กองมรดกและทายาท ทายาทหามีอำนาจที่จะสั่งการให้ผู้จัดการมรดกกระทำการใดได้เพียงแต่ผู้จัดการมรดกจะต้องรับผิดต่อทายาทโดยกฎหมายอนุโลมให้นำบทบัญญัติบางมาตราของลักษณะตัวแทนมาใช้ และทายาทย่อมอยู่ในฐานะเป็นผู้ควบคุมการจัดการมรดกของผู้จัดการมรดกให้อยู่ในขอบอำนาจที่พินัยกรรมและกฎหมายกำหนดไว้ รวมทั้งมีอำนาจที่จะขอให้ศาลสั่งถอนผู้จัดการมรดกที่ละเลยไม่ทำการตามหน้าที่ ส่วนประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1729,1731,1726,1732 และ 1727 วรรคสอง เป็นกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ศาลเป็นผู้ดูแลให้ผู้จัดการมรดกปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ เพื่อให้การจัดการมรดกเป็นไปโดยเรียบร้อย ดังนั้น วิธีการจัดการมรดกซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของผู้จัดการมรดกที่จะกระทำเองทายาทและศาลไม่มีอำนาจที่จะบังคับให้ผู้จัดการมรดกปฏิบัติตามมติที่ประชุมทายาทได้

บทความที่น่าสนใจ

-หากศาลตั้งผู้จัดการมรดกหลายคนคนใดตายจะต้องดำเนินการอย่างไร

-พินัยกรรมห้ามโอนทรัพย์มรดก

-สิทธิและหน้าที่ของผู้จัดการมรดก

-เมื่อลูกหนี้ตายเจ้าหนี้จะฟ้องทายาทลูกหนี้รับผิดได้หรือไม่

-ทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินเกินส่วนของตน

-เมื่อลูกหนี้ตายเจ้าหนี้ต้องฟ้องลูกหนี้ภายใน1ป